Sutan and Moe laughing after cooking together (Photo: Courtesy of Kimono Mom)
Cover โมเอะ และซูตัน ลูกสาวตัวน้อย หยอกล้อพลางหัวเราะ หลังเข้าครัวทำอาหารด้วยกัน (ภาพ: Kimono Mom)

เส้นทางชีวิตของอดีตเกอิชากับความรักไม่สมหวังและโรคซึมเศร้าสู่การเป็นผู้หญิงพลังบวกใน Kimono Mom

ก่อนจะมาเป็นกิโมโนมัม (Kimono Mom) หรือคุณแม่ชุดกิโมโน ในวัยเยาว์ โมเอะ (Moe) เคยออกจากโรงเรียนตอนมัธยมปลาย และระหว่างเดินทางมาฮ่องกงในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เธอได้เปิดใจกับ Tatler ถึงเรื่องราวเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบก่อนจะมาเป็นตัวเองในทุกวันนี้

บทบาททางเพศตามขนบและการเสริมสร้างพลังของเพศหญิงมักไม่สอดคล้องกัน อันที่จริงออกจะตรงข้ามถึงขัดแย้งกันด้วยซ้ำ อย่างเช่น แฮชแท็ก #tradwife (traditional wife) ตามความหมายว่าภรรยาตามขนบซึ่งกำลังเป็นกระแสใน TikTok แพลตฟอร์มที่ผู้หญิงนำมาใช้สนับสนุนการกลับสู่ค่านิยมเดิมและแนวคิดชายเป็นใหญ่ แต่สำหรับโมเอะ (ขอไม่เปิดเผยนามสกุล) หรือที่ผู้ติดตาม 1.6 ล้านคนบนยูทูป (YouTube) รู้จักกันดีในชื่อกิโมโนมัม (Kimono Mom) นั้น การเข้าครัวและเผยแพร่การทำอาหารญี่ปุ่นต้นตำรับไม่นับเป็นการทำตามบทบาทของภรรยาและแม่อย่างที่เธอถูกกำหนดให้เป็น และไม่ใช่บทบาทที่เธอทำไปเพื่อให้ตรงตามคาดหวังของสามีด้วย

“ตลอดชีวิตฉันทำทุกอย่างเพื่อตัวเอง ไม่ใช่เพื่อคนอื่น” เธอบอกกับ Tatler  ขณะจิบลาเต้ระหว่างมาเยือนฮ่องกง “เหมือนที่ฉันใส่กิโมโนนี่แหละค่ะ ฉันใส่เพื่อตัวเอง ไม่ใช่เพื่อให้ได้ยอดวิว มันคือตัวตนของฉัน”

สำหรับโมเอะ กิโมโนเป็นมากกว่าเครื่องแต่งกาย การสวมใส่กิโมโนเปรียบเสมือนเครื่องเตือนใจในทุกๆ วันถึงคำมั่นสัญญาที่เธอจะธำรงรักษาวัฒนธรรมญี่ปุ่นโบราณ ไม่ใช่การว่านอนสอนง่ายอย่างที่ใครต่อใครมักคาดหวังให้ผู้หญิงเป็น เธอสวมกิโมโนโบราณด้วยจิตใจเปี่ยมพลังและมองเห็นความเท่าเทียมกันของเพศหญิง ก่อนจะเป็นยูทูปเบอร์ (YouTuber) ผู้ประสบความสำเร็จ หญิงสาววัย 32 ปีผู้นี้เคยเป็นเกอิชามาก่อน บางช่วงบางตอนก็เป็นคนไร้บ้านและยังประสบภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย เรียกว่าชีวิตระหว่างทางระหกระเหินมานักต่อนักก่อนจะมาเป็นอย่างทุกวันนี้

เผลอใจรัก

โมเอะเกิดที่เมืองเกียวโต (Kyoto) อันเงียบสงบและแวดล้อมด้วยศิลปะหัตถกรรมประเพณี คุณปู่ของเธอซึ่งเป็นครูสอนศิลปะการเขียนอักษรจีนในย่านกิอง (Gion) เป็นผู้มีอิทธิพลในชีวิตของโมเอะมาก ช่วงก่อนวันเกิดปีที่ 16 ปู่ช่วยโมเอะทำการบ้านจากโรงเรียนในหัวข้อผู้คนที่ทำงาน  "เฉพาะทาง" โดยติดต่อให้เธอได้พบปะและสัมภาษณ์นักเรียนคนหนึ่งของปู่ซึ่งเป็นเกอิชา เหตุการณ์นี้เปลี่ยนชีวิตโมเอะอย่างสิ้นเชิง 

"หลังจากนั้นฉันมั่นใจมากว่าตัวเองอยากเป็นเกอิชา" โมเอะบอก  "ฉันตกหลุมรักประเพณีโบราณของเกียวโตจนอยากเป็นส่วนหนึ่งของมันเลยทีเดียว"

Tatler Asia
Moe wearing a Kimono in Kyoto (Photo: Courtesy of Kimono Mom)
Above โมเอะในชุดกิโมโนที่เมืองเกียวโต (ภาพจาก Kimono Mom)
Tatler Asia
Moe walking around Kyoto when she was an apprentice Geisha (Photo: Courtesy of Kimono Mom)
Above โมเอะเดินอยู่ในเกียวโต สมัยที่ยังเป็นเกอิชาฝึกหัด (ภาพจาก Kimono Mom)

และไม่น่าแปลกที่แม่ของเธอค้านหัวชนฝา โดยให้เหตุผลว่าโมเอะที่อายุ 16 ปีไม่ได้ขัดสนเรื่องเงินทองถึงขนาดจะต้องออกจากโรงเรียนมัธยมปลายเพื่อไปทำงาน อย่างไรก็ตาม เหตุผลแค่นั้นเหนี่ยวรั้งวัยรุ่นหัวดื้อไม่ได้และโมเอะก็วาดโครงการใหญ่โตเพื่อนำไปเกลี้ยกล่อมพ่อแม่  "ฉันคิดว่ามันเป็นนิสัยของฉันค่ะ" เธอพูดพลางหัวเราะ "ฉันรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรและฉันจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มา"

เห็นได้ชัดว่าความพยายามนั้นได้ผล โมเอะเปลี่ยนเส้นทางชีวิตจากการศึกษาเล่าเรียนไปเป็นการฝึกอบรมเพื่อเป็นเกอิชา

กลายเป็นมะเมะฮารุ

ตั้งแต่อายุ 16-22 ปี โมเอะอาศัยอยู่ในโอกิยะ (Okiya - โรงน้ำชา) ภายใต้การดูแลของโอกาซัง (Okasan - แม่) ผู้ฝึกอบรมเรื่องประเพณีและศิลปะการแสดง โมเอะเล่าว่า “สิ่งที่ฉันชอบในโอกิยะก็คือการได้อยู่ในวงล้อมของผู้หญิง ทุกคนพึ่งพาตัวเอง แข็งแกร่ง งดงาม ทุกคนคือนักธุรกิจตัวจริง พวกเธอสอนฉันทุกอย่างที่จำเป็นต้องรู้เพื่อใช้ดูแลตัวเอง”

แต่ชีวิตก็ไม่ได้ง่ายเสมอไปสำหรับวัยรุ่นคนนี้ ระหว่างการฝึกฝนศิลปะโบราณหลายแขนงที่เกอิชาจะต้องเรียนรู้ให้ช่ำชอง อย่างเช่น การขับร้อง เต้นระบำ เล่นดนตรี ตระเตรียมเสื้อผ้า เรียนแต่งหน้า รับรองลูกค้า บ่อยครั้งที่เธอได้นอนคืนหนึ่งไม่ถึงห้าชั่วโมง

Tatler Asia
Moe, or "Mameharu" (Photo: Courtesy of Kimono Mom)
Above โมเอะ หรือ “มะเมะฮารุ” (ภาพจาก Kimono Mom)
Tatler Asia
Moe getting ready for her day as an apprentice Geisha (Photo: Courtesy of Kimono Mom)
Above โมเอะกำลังเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มงานประจำวันในฐานะเกอิชาฝึกหัด (ภาพจาก Kimono Mom)

ในวันที่สภาพจิตใจย่ำแย่ แม่ของโมเอะจะแอบนำแกงกะหรี่ที่ทำเองมาฝาก โมเอะจะกินอย่างเงียบๆ ทั้งน้ำตา ในตอนนั้นโมเอะยังไม่รู้ตัว แต่ความทรงจำฝังใจนี้เองที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เธอทำช่องยูทูปของตัวเอง มันคือความรู้สึกที่ว่าอาหารฝีมือแม่นั้นช่วยปลอบโยนจิตใจได้

นอกจากภาระงานอันหนักอึ้งและตารางงานยุ่งเหยิง โมเอะเริ่มอายุมากขึ้น เธออยากเติบโตจากภายในและอยากมีพื้นที่ส่วนตัวที่จะได้เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง “การเป็นเกอิชามันหมายความว่าเราต้องแสดงตลอดเวลา” เธอบอก “ตรงนั้นฉันไม่ได้เป็นโมเอะ แต่เป็น ‘มะเมะฮารุ’ [ชื่อในวงการเกอิชาของโมเอะ]”

“ฉันไม่ได้เป็นตัวของตัวเองจริงๆ เลย” เธอเล่าต่อ “มันยากมากนะสำหรับคนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ที่กำลังพยายามค้นหาตัวเอง ฉันก็เลยรู้ว่าฉันต้องออกมาแล้ว”

“ฉันสูญเสียทุกอย่าง”

โมเอะออกจากวงการเกอิชาตอนอายุ 22 ปีและแต่งงานกับสามีคนแรก จากนั้นก็ย้ายไปอยู่โตเกียวด้วยกัน ซึ่งทำให้โมเอะเกิดอาการช็อกกับสภาพแวดล้อมใหม่เพราะเธอใช้ชีวิตอยู่ที่เกียวโตและบ้านเกอิชามาตลอด

แม้จะชอบที่ได้พบเจอโลกใหม่น่าตื่นตาตื่นใจตลอดการเดินทางไปทำธุรกิจกับสามี แต่ไม่นานโมเอะก็รู้สึกว่าเธอเป็นเหมือน “นกน้อยในกรงทอง”

"เรามีทัศนคติไม่ตรงกันค่ะ” เธอบอก “เขาคิดว่าการที่ผู้หญิงทำงานเป็นเรื่องน่าอาย ส่วนฉันก็ยังเด็ก ไร้เดียงสา เลยคิดว่าตัวเองไม่มีทางเลือกนอกจากตามเขาต้อยๆ อย่างเดียวที่ชูใจฉันก็คือการทำอาหารญี่ปุ่นให้เขากิน แต่นอกจากนั้นแล้วฉันก็ได้แต่เหงา”

หลังจากนั้นไม่กี่ปีโมเอะก็เป็นคนขอหย่า เธอเช่าห้องเล็กๆ ในเมืองหลวงของญี่ปุ่นและพยายามหางานทำ ซึ่งเป็นเรื่องยากเพราะเธอเรียนไม่จบมัธยมปลาย "ฉันต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ทุกอย่าง อย่างเช่นวิธีใช้คอมพิวเตอร์" เธอเล่าย้อนถึงช่วงเวลานั้น "ตกต่ำถึงขนาดที่ว่าไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าแล้วก็ต้องอาศัยนอนบ้านเพื่อนไปเรื่อยๆ"

สิ่งที่เธอพบเจอยังส่งผลต่อมุมมองด้านความรักและการแต่งงานด้วย อันที่จริงแล้วในวิดีโอถาม-ตอบ เธอถึงขั้นพูดว่า “เกลียดและเบื่อที่จะรับใช้ผู้ชาย” และคิดว่าจะไม่แต่งงานอีก

Tatler Asia
Moe, also known as Kimono Mom (Photo: Courtesy of Kimono Mom)
Above โมเอะหรือที่รู้จักในชื่อกิโมโนมัม (ภาพจาก Kimono Mom)

แต่ถึงอย่างนั้น เมื่ออดีตสามีเสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยโรคมะเร็ง โมเอะก็เหมือนถูกตีแสกหน้า “ฉันหัวใจสลายไม่มีชิ้นดี เลยตัดสินใจกลับเกียวโต” แล้วอาหารก็เป็นที่หลบเลียแผลใจของเธออีกครั้ง

“คนที่เกียวโตค่อนขอดฉันเรื่องหย่า ฉันรู้สึกพังพินาศเลยค่ะ ชีวิตไม่เหมือนที่คาดหวังไว้สักอย่าง สุดท้ายแล้วก็กลายเป็นแม่ของฉันนี่เองที่เป็นที่พักใจ แม่ทำอาหารให้กิน อยู่กับฉันเงียบๆ ที่โต๊ะและรอให้ฉันเปิดใจ”

ด้วยอาหารและวิธีของแม่ โมเอะได้ฟื้นฟูจิตใจภายในห้องครัวนั้นเอง สำหรับหญิงสาวคนหนึ่ง การทำอาหารได้นำพาหลายสิ่งเข้ามาหาตัวเธออย่างรวดเร็ว ทั้งความนับถือตัวเอง การสื่อสาร การเข้าใจ การได้พิจารณาตนเอง และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การรักตัวเอง

“ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ฉันขอเก็บเกี่ยวเอาไว้ทุกอย่าง” โมเอะบอกกับเรา “ฉันโอบรับความผิดพลาดทุกอย่างที่เกิดขึ้น เพราะทั้งหมดประกอบสร้างให้ฉันเป็นฉันอย่างทุกวันนี้”

จุดกำเนิดของกิโมโนมัม

แล้วเธอก็ได้พบความรักอีกครั้งจากโมโตะ (Moto) สามีคนที่สอง คนที่เธอเล่าว่าทำให้รู้สึก “ได้รับการสนับสนุนอย่างแท้จริง” และในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 โมเอะผู้มีแค่ไอโฟน (iPhone) กับแล็ปท็อปหนึ่งเครื่องก็โพสต์คลิปวิดีโอชิ้นแรกบนช่องยูทูปที่เพิ่งสร้างขึ้นมา

ในคลิปเปิดตัว เธอสอนผู้ชมทำแซนด์วิชรากบัวทอดกรอบ โดยมีลูกสาวชื่อซูตัน (Sutan) เป็นผู้ช่วยและเป็นคู่หูทำรายการเรื่อยมา สิ่งที่ไม่ได้ปรากฏต่อหน้ากล้องก็คือความยากลำบากและความแข็งแกร่งของโมเอะที่อยู่เบื้องหลังการถือกำเนิดของรายการ

"ตอนท้องฉันลำบากมากค่ะ แม้กระทั่งหลังคลอด กว่าจะฟื้นตัวต้องใช้เวลานาน" โมเอะกล่าว "ฉันเสียเลือดมาก ออกแรงทำงานหนักไม่ได้ ฉันอยากกลับไปทำงานแต่ว่าร่างกายไม่ไหวก็เลยต้องอยู่บ้านคนเดียวกับซูตัน  ตอนนั้นเองที่ฉันเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด เลยเริ่มทำช่องยูทูปเพื่อจะได้สื่อสารกับโลกภายนอกอีกครั้งและถ่ายทอดความหลงใหลอาหารญี่ปุ่นให้กับคนอื่นๆ ด้วย"

เพียงไม่กี่ปีหลังจากนั้น สภาพจิตใจของโมเอะดีขึ้นมาก มีผู้ติดตามเธอบนยูทูป 1.6 ล้านคน และ 1.4 ล้านคนบนอินสตราแกรม (Instagram) เกอิชาผู้หันมาเป็นยูทูปเบอร์คนนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการลุกขึ้นยืนหยัดเพื่อตัวเองและเป็นตัวเองอย่างแท้จริงนั้นคุ้มค่าเพียงใด

Tatler Asia
Moto, Moe, and their daughter Sutan (Photo: Courtesy of Kimono Mom)
Above (จากซ้ายไปขวา) โมโตะ ซูตัน และโมเอะ (ภาพจาก Kimono Mom)
Tatler Asia
Moe, also known as Kimono Mom, showing the product from her shop (Photo: Courtesy of Kimono Mom)
Above โมเอะ หรือที่รู้จักกันในนามกิโมโนมัมกับสินค้าจากร้านของเธอ (ภาพจาก Kimono Mom)

การเป็นกิโมโนมัมทำให้โมเอะได้กลับมาเชื่อมโยงกับโลกภายนอกอีกครั้ง และยังทำให้เธอได้เชื่อมโยงกับตัวเองด้วย วันนี้โมเอะอยู่ในจุดที่เธอต้องการมาตลอดตั้งแต่อายุ 16 ปี เธอมีสามีและลูกสาวที่น่ารัก ได้ทำงานสร้างสรรค์ ทรงคุณค่า ได้ทำอาหารและเผยแพร่วัฒนธรรมไปในตัว

โมเอะไม่เคยหยุดนิ่ง เธอเกริ่นกับเราว่ากำลังจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่คือ “ซอสปรุงรสกิโมโนมัม” ซึ่งเป็นซอสวีแกน ปราศจากกลูเตนและแอลกอฮอล์ สามารถ “ปรุงอาหารญี่ปุ่นได้ทุกชนิดโดยไม่มีข้อจำกัดทางศาสนาและการกิน” โดยจะวางจำหน่ายทั่วโลกเร็วๆ นี้ โมเอะกล่าวว่านี่คือส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นตั้งใจที่อยากให้อาหารญี่ปุ่นเข้าถึงทุกคน

แต่โมเอะจะยังคงทำวิดีโอสร้างแรงบันดาลใจกับลูกสาวของเธอต่อไป ลูกสาวผู้เป็นตัวแทนและประจักษ์พยานเด่นชัดสำหรับปรัชญาชีวิตของเธอ: นั่นคือจงพยายามอย่างไม่ย่อท้อและจงเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง ลูกสาวผู้เป็นเด็กน้อยวัยเตาะแตะที่ได้รับการเลี้ยงดูจากแม่ผู้มั่นใจในตนเองและพ่อผู้มีความรักมหาศาล โมเอะบอกว่าซูตันนั้น “เสียงดัง ร่าเริง แล้วก็ทะเล้น” 

“ฉันไม่อยากสอนให้ซูตันเป็นเด็กว่านอนสอนง่ายหรอกนะคะ” โมเอะบอก “กลับกัน อยากสอนให้แกหาความสุขเป็น ให้เป็นคนมีอิสระ แล้วก็เข้มแข็ง นี่แหละสิ่งสำคัญ”

Topics